เมื่อวันที่
14 มี.ค. 2024

ป้ายกำกับ

คณะวิจัยและภาคีเครือข่ายจากแผนวิจัย“บพท.”ยะลา ลงพื้นที่ส่งมอบโปสการ์ดลงนามนายกรัฐมนตรี


เมื่อวันที่ 12-13 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา แผนวิจัยการพัฒนาพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคมจังหวัดยะลา(SRA) นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกสรี ลัดเลีย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ลงพื้นที่ติดตามความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบและสูญเสียมากที่สุดจากเหตุอุทกภัยน้ำท่วม เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา พร้อมด้วยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดยะลา สาธารณสุขจังหวัดยะลา แรงงานจังหวัดยะลา ประชาสัมพันธ์จังหวัดยะลา อำเภอเมืองรามัน อำเภอบันนังสตา มูลนิธิซะกาตและสาธารณกุศล สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี ผู้นำชุมชน ผู้นำหมู่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ ผู้นำศาสนา และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ร่วมลงพื้นที่

พร้อมกันนี้ ยังได้มอบถุงยังชีพและไปรษณียบัตรโปสการ์ด จำนวน 4 ภาพ โดยมีการลงนามจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมราชการในพื้นที่จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา โดยได้มอบผ่านให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกสรี ลัดเลีย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม/หัวหน้าชุดโครงการวิจัยฯ เป็นตัวแทนรับมอบส่งต่อกำลังใจและความปรารถนาดีให้แก่ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบอุทกภัยน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอรามัน จำนวน 2 หลังคาเรือน และอำเภอบันนังสตา จำนวน 2 หลังคาเรือน

ทั้งนี้ ไปรษณียบัตรโปสการ์ดดังกล่าว เป็นรูปภาพผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้โครงการวิจัยฯ ซึ่งได้แก่ 1. รูปลายผ้าอัตลักษณ์ท้องถิ่น ภายใต้ชุดโครงการวิจัยเรื่องนวัตกรรมแบบผสมผสาน JAPO Model 2. รูปภาพช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ภายใต้ชุดโครงการวิจัยคราฟต์แก้จนเพื่อยกระดับรายได้และส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยชุมชนจังหวัดยะลา 3. รูปภาพเครื่องดื่มน้ำนมข้าวโพด ผลิตภัณฑ์ ภายใต้ชุดโครงการวิจัยเพื่อยกระดับรายได้ครัวเรือนยากจน อำเภอบันนังสตา : เสบียงโมเดล 4. รูปภาพกิจกรรมการปลูกผักยกแคร่ ภายใต้ชุดโครงการวิจัยเกษตรกรรมและงานช่างก่อสร้างสำหรับคนเมือง “ซือแนฮาตี ดีกรงปินัง”

นอกจากการได้เห็นบรรยากาศการลงพื้นที่ติดตามและมอบถุงยังชีพและไปรษณียบัตรโปสการ์ดแล้ว ยังได้เห็นถึงบทบาทมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาในการเป็นหน่วยประสานเชื่อมโยงบูรณาการผนึกพลังกับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้นำชุมชน ประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยจากความร่วมมือทุกภาคส่วน ที่จะส่งผลให้ชาวบ้านและชุมชนที่อยู่ในพื้นที่มีกำลังใจพร้อมเผชิญปัญหาและก้าวข้ามอุปสรรคการพัฒนาไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ย้อนกลับ