​อาจารย์และนักศึกษา มรภ.ยะลา ร่วมโครงการกิจกรรมเพื่อสังคมในการพัฒนาเศรษฐกิจ


อาจารย์และนักศึกษา มรภ.ยะลา ร่วมโครงการกิจกรรมเพื่อสังคมในการพัฒนาเศรษฐกิจ Mini Seed Thailand 2018 เรียนรู้การจัดทำแผนธุรกิจในการแก้ปัญหาฐานเศรษฐกิจชุมชน

    เมื่อวันที่ 17-26 กันยายน พ.ศ. 2561 อาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา เข้าร่วมโครงการกิจกรรมเพื่อสังคมในการพัฒนาเศรษฐกิจ (Social Enterprise for Economic Development) หรือ Mini-SEED Thailand 2018 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 โดยมีนักศึกษาเข้าร่วม 60 คน จากมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมาเลเซียกลันตัน (UMK) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีอิสลามตรังกานู (UiTM) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

   ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาเข้าร่วมโครงการ โดยมีอาจารย์อัลอามีน มะแต สาขาการเงินการธนาคาร คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นวิทยากรประจำกลุ่ม ในการขจัดกิจกรรมฝึกให้นักศึกษาได้เรียนรู้การใช้ชีวิต ภาษา การใช้ความรู้เพื่อพัฒนาชุมชน สร้างคุณประโยชน์แก่สังคม อีกทั้งจัดทำแผนธุรกิจเพื่อชุมชน โดยใช้ Lean Canvas Business Model และนักศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ เข้าร่วม โดยมีพลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธาน ปิดโครงการและมอบใบประกาศนียบัตรแก่ผู้ร่วมโครงการ ตลอดจนรับฟังการนำเสนอแผนธุรกิจของนักศึกษาที่ได้นำเสนอให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนได้รับทราบถึงแนวทางข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาของชุมชนต่อไป

    โครงการ Mini-SEED เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้ ASEAN Learning Networks เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมนักศึกษาระหว่างประเทศและกิจกรรมพัฒนาภาวะผู้นำของนักศึกษา โดยได้กำหนดให้นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการลงพื้นที่สู่ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล เพื่อเก็บข้อมูลทำ Workshop เกี่ยวกับแผนธุรกิจในการแก้ปัญหาฐานเศรษฐกิจชุมชน โดยการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ ที่นักศึกษาได้เรียนรู้ในมหาวิยาลัยสู่ชุมชน ชาวบ้านจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้แก่ท้องถิ่น เป็นการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวมอย่างยั่งยืน โดยการดำเนินการที่ผ่านมาเป็นการดำเนินการที่อาศัยองค์ความรู้และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา คณะกรรมการหมู่บ้าน และหน่วยงานราชการในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงองค์ความรู้เพื่อให้เกิดการสื่อสารในการดำเนินงาน เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้ชุมชนมีความเข็มแข็งมากยิ่งขึ้น 

ย้อนกลับ