เมื่อวันที่
29 ม.ค. 2024

ป้ายกำกับ
มรย. ประชุม หารือ การดำเนินงาน NIA STEAM4INNOVATOR Center

มรย. ร่วมประชุม NIA วางแผนการดำเนินงานศูนย์นวัตกรรุ่นใหม่ STEAM4INNOVATOR Center


มรย. ร่วมประชุม NIA วางแผนการดำเนินงานศูนย์นวัตกรรุ่นใหม่ STEAM4INNOVATOR Center

วันนี้ (29 ม.ค. 67) ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยฯ ชั้น 2 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศิริชัย นามบุรี เป็นประธานการประชุม ร่วมระหว่าง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กับ STEAM4INNOVATOR Center ศูนย์มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (มรย.) เกี่ยวกับแผนการดำเนินงานของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2567 และแผนการดำเนินงานศูนย์นวัตกรรุ่นใหม่ โดยมีดร.นิมารูนี หะยีวาเงาะ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาระบบการศึกษาและการเรียนรู้ คณาจารย์ และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม

STEAM4INNOVATOR มีแนวทางจัดการเรียนรู้สมัยใหม่ ที่มุ่งเน้น กระบวนการให้เยาวชนสามารถสร้างสรรค์ผลงานเพื่อก้าวไปสู่การเป็นนวัตกร บนพื้นฐานของ STEAM : Science, Technology, Engineering, Art, Mathematics และมีมิติการนำแนวความคิดเชิงนวัตกรรมมาทำเป็นธุรกิจนวัตกรรม โดยผ่านกระบวนการ 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้นตอนที่ 1 รู้ลึก รู้จริง เริ่มต้นกระบวนการสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมด้วยการรับรู้สิ่งแวดล้อม สามารถมองเห็นปัญหาที่แท้จริง เข้าถึงมุมมองใหม่ จนสามารถสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดความอยากที่จะคิดไอเดียสุดเจ๋งมาต่อยอดสร้างสรรค์เป็นธุรกิจที่สร้างคุณค่า ขั้นตอนที่ 2 สร้างสรรค์ไอเดีย การต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ กำหนดปัญหาและเป้าหมายในการแก้ไขที่ชัดเจน เพื่อให้ได้คำตอบใหม่ที่แตกต่าง สร้างสรรค์ ทำได้จริงและมีคุณค่าเป็นที่ต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้ ขั้นตอนที่ 3 แผนพัฒนาธุรกิจ การออกแบบแนวคิดและแผนบริหารจัดการทั้งหมด ซึ่งจะเกี่ยวข้องทั้งการเชื่อมโยงคน เทคโนโลยี ทรัพยากร และความหลากหลายไปสู่เป้าหมายที่ทำได้จริงและขั้นตอนที่ 4 การผลิตและการกระจาย การลงมือสร้างผลงานนวัตกรรมและการลงมือทำอย่างจริงจังให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมทางธุรกิจ เพื่อกระจายผลผลิตออกสู่ตลาด

STEAM4INNOVATOR Center ศูนย์มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (มรย.) ซึ่งให้ความสำคัญกับ C: Connection เป็นพิเศษ โดยเน้นระดมความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น เครือข่ายสถานประกอบการ สถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาร่วมสนับสนุนต่อยอดโครงการนวัตกรรมของผู้เรียนสู่การลงมือทำจริง ปัจจุบันมีหน่วยงานเครือข่าย 18 แห่ง ที่ปรึกษาด้านการบริหารธุรกิจ 25 คน และด้านเทคนิคทั้งด้านเคมี วัสดุศาสตร์ วิทยาศาสตร์การอาหาร และแพลตฟอร์มการให้บริการ รวมกว่า 30 คน

************

ภาพ/ข่าว งานประชาสัมพันธ์และมวลชนสัมพันธ์

ย้อนกลับ