เมื่อวันที่
26 ก.พ. 2018

ป้ายกำกับ
มรย. วิจัย องค์ความรู้ ทหารบก แม่บ้าน ชุมชน

มรย.นำองค์ความรู้เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชม สร้างชุมชนเข้มแข็งกลุ่มแม่บ้านทหารบก 3 จชต.


มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา นำองค์ความรู้เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชม สร้างชุมชนเข้มแข็งกลุ่มแม่บ้านทหารบก 3 จชต.

    ผศ.ดร.ชมพูนุท ศรีพงษ์ อาจารย์ประจำสาขาการจัดการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า การลงพื้ นที่ในงานวิจัยเรื่อง การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านทหาร กองทัพภาคที่ 4 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มเมื่อปี 2559 โดยสำรวจการดำเนินงานทางธุรกิจของวิสาหกิจชุมชนของแม่บ้านทหารบก ในจชต. พบว่าขาดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง จากที่สมาชิกซึ่งเป็นแกนนำต้องย้ายตามกำลังพลผู้เป็นสามีไปประจำ ณ หน่วยทหารอื่น ทำให้วิสาหกิจชุมชนของแม่บ้านที่มีอยู่ต้องยุติการดำเนินงานไปโดยปริยาย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เริ่มงานวิจัยจากการสัมภาษณ์แบบกลุ่มกับสมาชิกชมรมแม่บ้านทหารบก ในจชต. 16 หน่วย พบว่าแม่บ้านมีความตั้งใจที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม่เพียงเพื่อให้มีผลิตภัณฑ์ประจำหน่วย แต่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้จำหน่ายในเชิงพาณิชย์ สามารถขยายตลาดให้กว้างขึ้นเพราะลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในแวดวงทหาร และต้องการพัฒนากลุ่มให้มีความเข้มแข็ง สมาชิกสามารถสานต่อการดำเนินงานรุ่นต่อรุ่น ทางคณะวิจัยในโครงการนี้ของมหาวิทยาลัยฯ จึงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมกับสมาชิกกลุ่มแม่บ้าน ด้วยการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส อุปสรรค ตลอดจนปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินงาน แนวทางการพัฒนา โดยมีกลุ่มแม่บ้าน 7 กลุ่ม กำหนดแนวทางพัฒนากลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน จากการพัฒนาทำให้กลุ่มแม่บ้านได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ขึ้นมาใหม่ 5 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์กระจูด กรมทหารราบที่ 151 จังหวัดนราธิวาส กลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก กรมทหารราบที่ 152 กลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสื้อหุ้มกล่องทิชชู กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 153 กลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น หน่วยข่าวกรองทางทหาร กองพลทหารราบที 15 และกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสื้อยืดปักทำมือ ลายการ์ตูนทหาร และกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์กล้วยตากพลังงานแสงอาทิตย์ กองพันทหารช่างที่ 15 ได้จดทะเบียนภายใต้วิสาหกิจชุมชนดียวกัน อีกทั้งทุกกลุ่มดังกล่าวได้จดทะเบียนผู้ผลิตผู้ประกอบการโอทอป รวมถึงกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แหนมสด กองพันทหารสื่อสารที่ 15 ทุกกลุ่มมีสมาชิกเริ่มต้นตั้งแต่ 5 – 10 คน กลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์กระจูดเป็นกลุ่มที่เติบโตมาก ได้ชักชวนชาวบ้านรอบค่ายกัลยาณิวัฒนา จังหวัดนราธิวาสเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกเพื่อเพิ่มกำลังผลิต จนมีสมาชิกรวม 20 คน ส่วนกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกมีกำลังพลทหาร ซึ่งสนใจมาฝึกเขียนลายบาติก จนเป็นกำลังการผลิตที่สำคัญในปัจจุบัน

ผศ.ดร.ชมพูนุท ศรีพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาเราได้พัฒนาให้ครอบคลุมทุกด้านตามแนวทางที่คณะวิจัยและสมาชิกร่วมกันกำหนด เช่น พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับกลุ่มผู้ผลิตภัณฑ์กระจูด จากปัญหาเรื่องการตัดเย็บผ้าบุภายในไม่เรียบ ดูไม่สวยงาม และปัญหาการออกแบบผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ คณะวิจัยจึงประสานความร่วมมือกับอาจารย์วิทยาลัยสารพัดช่างนราธิวาส ให้ช่วยฝึกอบรมพัฒนาทักษะการตัดเย็บผ้าบุภายใน และให้อาจารย์ภาควิชาออกแบบศิลปกรรมจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ฝึกอบรมการออกแบบผลิตภัณฑ์ จนกลุ่มได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช) กลุ่มผู้ผลิตผลิตน้ำมันมะพร้าว และเครื่องสำอางจากน้ำมันมะพร้าว มีปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจากที่ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มไม่มีมาตรฐานใดรองรับ ก็ได้พัฒนากันจนผลิตภัณฑ์ ทุกรายการได้รับเลขที่ใบรับแจ้งจากสาธารณสุข และได้รับเครื่องหมาย มผช ไปแล้วบางรายการ ซึ่งขณะนี้ทยอยส่งขอเครื่องหมาย มผช ให้ครบทุกรายการ ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มผู้ผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก กลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสื้อหุ้มกล่องกระดาษทิชชูก็พัฒนาผลิตภัณฑ์จนได้ มผช. เช่นกัน นอกจากนี้ทางเราได้อบรมให้ความรู้ด้านการตลาด การจัดการความรู้เพื่อความยั่งยืน การสร้างแฟนเพจ เพื่อเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ การอบรมด้านบัญชี โดยอาจารย์ของมหาวิทยาลัยฯ รวมทั้งได้พัฒนาป้ายสินค้า โลโก้ และบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนสร้างเครือข่ายกับทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กับ เทศบาล อำเภอ จังหวัดในการออกร้านจำหน่ายสินค้าเพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดมากขึ้น เหมือนที่ผ่านมากลุ่มต่างๆได้ไปร่วมออกร้านงานเทศกาลประจำปีของอำเภอ ของจังหวัด ออกร้านจำหน่ายสินค้างานโอทอป ที่จังหวัดสงขลา และได้ร่วมแสดงสินค้ารับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทำให้ผลิตภัณฑ์ของหลายกลุ่มได้รับคัดเลือกไปจำหน่าย ณ ร้านภูฟ้า กลุ่มผู้ผลิตภัณฺฑ์กระจูดก็ได้ลงนาม MOU กับบริษัทประชารัฐสามัคคี จังหวัดนราธิวาส ทำให้มีรายการสั่งซื้อประจำอย่างต่อเนื่อง มีหน่วยงานภาครัฐเริ่มเข้ามาสนับสนุนเครื่องจักรในการผลิต ปัจจุบันทุกกลุ่มสามารถขยายตลาดได้กว้างขึ้น ยอดสั่งสินค้ามากขึ้น เช่น กลุ่มกระจูดจากที่มีรายได้ของกลุ่ม 9,000 - 10,000 บาทต่อเดือน เพิ่มเป็น 25,000 - 35,000 บาทต่อเดือน สามารถกระจายรายได้ให้กับทางกลุ่มแม่บ้านและชาวบ้านเพิ่มมากขึ้น และกลุ่มได้พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ กลุ่มอื่นๆ ก็มีรายได้เพิ่มจากเดิมเช่นกัน กลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกเป็นอีกกลุ่มซึ่งได้พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้

ผลิตภัณฑ์หลายอย่างของกลุ่มแม่บ้านทหารในจชต. ถือว่าเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น อย่างผ้าบาติก ผลิตภัณฑ์จักสานกระจูด แต่ต้นทุนที่นี่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นในภาคใต้ ดังนั้นต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แตกต่าง เพิ่มลูกเล่นให้ดูดีได้มาตรฐาน ย่อมเพิ่มคุณค่าและดึงดูดใจลูกค้า ใช้สื่อ ใช้ช่องทางการตลาดในสังคมออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ ลดต้นทุนที่ไม่ทำให้เกิดรายได้ พัฒนากลุ่มให้มีความเข้มแข็ง มีคนรุ่นหลังๆสานต่อการดำเนินงาน จัดการความรู้ในกลุ่ม และพัฒนาการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง พึ่งตัวเองให้มาก พัฒนาเป็นสมาร์ทวิสาหกิจชุมชนให้ได้ รายได้จะตามมาเอง ปัจจุบันกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ของแม่บ้านทหารใน จชต หลายกลุ่มได้พัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชนระดับก้าวหน้า และบางกลุ่มก้าวสู่การเป็น SME ที่เน้นในเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือทุนทางสังคม ทั้งตัวบุคคล วัตถุดิบ อีกทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ได้มุ่งส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน และ SME ดังนั้นจึงย่อมเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนากลุ่มให้ก้าวไกลต่อไป แต่ที่สำคัญจะไปได้ไกลแค่ไหน ยั่งยืนหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการเริ่มต้นลงมือพัฒนาของกลุ่มเป็นสำคัญ ผศ.ดร.ชมพูนุท ศรีพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

ย้อนกลับ