เมื่อวันที่
22 ก.พ. 2018

ป้ายกำกับ
อธิการบดี มรย. พระราโชบาย องคมนตรี ผลิตครู

มรย.น้อมนำพระราโชบาย 3 ด้านสู่การแก้ไขและพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน


มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา น้อมนำพระราโชบาย 3 ด้าน พัฒนาระบบผลิตครู พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา และพัฒนาท้องถิ่น สู่การแก้ไขและพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

    ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา น้อมนำพระราโชบายด้านการศึกษามาดำเนินการโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยพัฒนาท้องถิ่นและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเป็นสถาบันอุดมศึกษาหลักของจังหวัดจังหวัดยะลา ตั้งอยู่ใจกลางเมืองยะลา เป็นมหาวิทยาลัยของคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลิตบัณฑิตสาขาด้านครุศาสตร์และสาขาอื่นๆ ให้กับพื้นที่มาอย่างยาวนาน โดยจะมีอายุครบ 85 ปี ในปี พ.ศ.2562 การดำเนินงานโครงการพัฒนาท้องถิ่นตามพระราโชบาย มีด้วยกัน 3 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาระบบผลิตครู มหาวิทยาลัยฯ ได้พัฒนาสถานศึกษาต้นแบบ คือ การพัฒนาปอเนาะต้นแบบ โดยมุ่งพัฒนาสื่อ แบบเรียน พัฒนาหลักสูรที่เหมาะสมและการนำหลักสูตรไปใช้ พัฒนาตาดีกาต้นแบบ โดยมุ่งพัฒนาสื่อ นวัตกรรม วิธีการบริหารจัดการและการขยายผล พัฒนาโรงเรียนสาธิตต้นแบบที่มุ่งเน้น 4 ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษามลายู พัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ SMP (Science Math Program) และพัฒนาโรงเรียนพหุภาษาศึกษา ด้านการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ดำเนิน “ โครงการพัฒนานวัตกรรมส่งเสริมความรอบรู้เรื่องสุขภาวะผ่านการพัฒนาความสามารถด้านภาษา ” ดำเนินการในปี พ.ศ. 2560 – ปัจจุบัน โดยร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 7 ตำบล มีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการ 23 แห่ง ด้านโครงการตามพระราชดำริ “โครงการ การจัดการน้ำในชีวิตประจำวันและการชลประทานสำหรับเด็กปฐมวัย” ดำเนินการใน ปี พ.ศ. 2558 ปัจจุบันหลักสูตรเสริมประสบการณ์ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการจัดการน้ำในชีวิตประจำวัน และการชลประทานเบื้องต้น อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดำเนินการร่วมกับสำนักงานชลประทานที่ 17 (นราธิวาส) และมีการผลิตสื่อในการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย ด้านการขยายผล สามารถนำหลักสูตรของหลักสูตรเสริมประสบการณ์ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการจัดการน้ำในชีวิตประจำวัน และการชลประทานเบื้องต้น อันเนื่องมาจากพระราชดำริไปใช้ในปัจจุบัน จำนวน 12 โรงเรียน ประกอบด้วยโรงเรียนสังกัด (ตชด.) จำนวน 12 โรงเรียน และโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จำนวน 9 โรงเรียน สำหรับด้านการพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้ ภายใต้ “โครงการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาชายแดนภาคใต้” ดำเนินการใน ปี พ.ศ. 2560 – ปัจจุบัน โดยมีกิจกรรมหลัก 7 กิจกรรม

    ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า และด้านการพัฒนาท้องถิ่น ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม “โครงการท่าสาปโมเดล” โดยถอดบทเรียนความสำเร็จของโครงการ เพื่อนำไปสู่การขยายผล สู่พื้นที่เป้าหมายในระดับหมู่บ้านต่อไป โดยในปี 2561 ได้พัฒนาต้นแบบ 7 ต้นแบบเพื่อนำไปสู่การขยายผล ประกอบด้วย โครงการพัฒนาครูครูต้นแบบด้านการสอนอิสลามศึกษา โครงการต้นแบบแหล่งเรียนรู้พฤกษาศาสตร์ โครงการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ส้มแขก โครงการการพัฒนาต้นแบบธุรกิจชุมชนท่าสาบ-กลุ่มกะลามะพร้าว โครงการการพัฒนาต้นแบบธุรกิจชุมชนท่าสาบ-กลุ่มอาชีพนมแพะ โครงการการพัฒนาต้นแบบธุรกิจชุมชนท่าสาบ-กลุ่มเสื้อผ้าสตรี โครงการต้นแบบการใช้พลังงานทดแทนจากแก๊สชีวภาพ ซึ่งมีแนวทางการดำเนินงาน การพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา การยกระดับคุณภาพการศึกษาของนักเรียนในพื้นที่เป้าหมาย และขยายผลโครงการท่าสาปโมเดลสู่พื้นที่เป้าหมาย ตามยุทธศาสตร์ใหม่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นตามพระราโชบาย ระยะ 20 ปี ในระหว่างปี พ.ศ. 2560 - 2579 ได้แก่ ยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น ยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู ยุทธศาสตร์การยกระดับคุณภาพการศึกษา และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริหารจัดการ อันจะเป็นการสนองต่อพระราโชบายในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ

ย้อนกลับ